สัมผัสกลิ่นอายอารยธรรมมอญ
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อาหารมอญเลิศรส
สดสวยเส้นสาย ลายผ้ามอญทอมือ เลื่องระบือรำหงส์
พระมุเตาสถูปสถิตคง สดับธรรมคำสวดมอญ
คือมอญแห่งบ้านม่วง
มอญบ้านม่วงเองก็เชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกตนติดตามพระมหาเถระคันฉ่อง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่ครั้งกรุงศรี รัชสมัยพระนเรศวร และเพื่อรำลึกถึงบ้านเก่าที่จากมา จึงเรียกบ้านใหม่ด้วยชื่อเก่า “บ้านม่วง” เช่นเดียวกับชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า “วัดม่วง” ภาษามอญว่า “เพลียเกริก” มอญบ้านม่วงใช้เวลา 30 กว่าปีในการบุกเบิกที่ทางทำมาหากิน ก่อร่างสร้างชุมชนและวัดวาอาราม
คัมภีร์ใบลานเก่าที่สุดของวัดม่วง จารเมื่อศักราช 1000 ตรงกับ พ.ศ. 2181 ชุมชนมอญบ้านม่วงจึงมีอายุเก่าแก่ถึง 379 ปี
เลือดมอญยังล้นปรี่ ย้อนรอยชาติอารยชน
ยังมีการอพยพเข้ามาสมทบอีกหลายระลอก และเวลาร่วม 400 ปี ช่างเนิ่นนานนักในการยืนหยัดเหนียวแน่นอยู่กับ “ความเป็นมอญ” และนั่นก็เป็นรากฐานอันดีในการก่อเกิด พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และศูนย์มอญศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาชุมชนมอญแห่งนี้ให้เป็นคลังความรู้มอญ เพื่อย้อนรอยชาติอารยชน ผู้ซึ่งนานมาแล้วมีบทบาทสูงเด่นอยู่ในอาณาจักรเก่าแก่ นามว่า “ทวารวดี” ทวารวดี ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาคกลาง และแผ่อิทธิพลไปทั่วประเทศไทย ข้ามไปถึงกัมพูชาและลาว โดยมีวัฒนธรรมมอญโดดเด่นเป็นสง่า
|
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง
|
|